อูฐตัวที่ 18: ธุรกิจครอบครัวกับการจัดการความขัดแย้ง
- Navaphol Viriyakunkit
- 8 เม.ย. 2565
- ยาว 1 นาที
“สันติภาพไม่ได้หมายถึงไม่มีความขัดแย้ง
แต่คือความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง” [1] - มหาตมา คานธี

“พ่อผู้ล่วงลับทิ้งอูฐ 17 ตัวให้เป็นมรดกแก่ลูก 3 คน...”
วิลเลี่ยม ยูริ (William Ury) นักวิชาการด้านการเจรจาและสันติวิธีจากฮาร์วาร์ดเปิดเวที TED วันนั้นด้วยเรื่องเล่าจากดินแดนตะวันออกกลาง “พ่อผู้ล่วงลับกำชับให้แบ่งอูฐตามนี้อย่างเคร่งครัด คือ ให้ลูกคนโตได้อูฐครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ลูกคนที่สองได้อูฐ 1 ส่วน 3 ของทั้งหมด ส่วนลูกคนเล็กได้อูฐ 1 ส่วน 9 ของอูฐทั้งหมด”
พี่น้องทั้งสามหันมามองหน้ากัน...
เมื่อไม่อาจหาวิธีที่จะแบ่งอูฐตามคำสั่งของพ่อผู้ล่วงลับได้ พวกเขาจึงตัดสินใจเดินทางไปขอคำปรึกษาจากหญิงชราผู้ชาญฉลาด “ข้าไม่แน่ใจนักว่าจะช่วยพวกเจ้าได้ แต่เอาอย่างนี้มั้ย เอาอูฐของข้าไปซักตัว” หญิงชรากล่าวพร้อมกับมอบอูฐหนึ่งตัวให้กับพี่น้องทั้งสาม
ตอนนี้พวกเขามีอูฐทั้งหมด 18 ตัว
ลูกคนโตได้อูฐครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้น เขาจึงได้อูฐ 9 ตัว
ลูกคนที่สองได้อูฐ 1 ส่วน 3 ของทั้งหมด เขาจึงได้อูฐ 6 ตัว
ลูกคนที่สามได้อูฐ 1 ส่วน 9 เขาจึงได้อูฐ 2 ตัว
พี่น้องสามคนได้อูฐไปทั้งสิ้นรวม 17 ตัว พร้อมทำตามความประสงค์ของพ่อผู้ล่วงลับทุกประการ เหลืออูฐอีก 1 ตัว พวกเขาจึงคืนมันให้แก่หญิงชราพร้อมกล่าวขอบคุณ
เผชิญหน้าความขัดแย้งแบบชาวแซน
มนุษย์มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันมาตลอดประวัติศาสตร์ และความขัดแย้งก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าที่มนุษย์ยังอยู่พื้นพิภพ ประเด็นสำคัญในเรื่องความขัดแย้งจึงไม่ใช่การขจัดมันออกไป แต่คือการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติ วิลเลี่ยม ยูริ แชร์ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้วิธีจัดการกับความขัดแย้งของชนเผ่าแซนในอัฟริกา[2] ที่ยังคงใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากบรรพบุรุษของพวกเขาเมื่อประมาณ 20,000 ปีก่อน ชาวแซนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้า[3] การตัดสินใจจะใช้ “ความคิดเห็นของส่วนใหญ่” หรือ Group Consensus เป็นหลัก เมื่อเกิดความขัดแย้งที่ดูจะรุนแรงขึ้น จะมีใครบางคนนำอาวุธไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้ หลักจากนั้น พวกเขาจะตั้งวงแล้วนั่งคุยกัน คุยกัน คุยกัน จนกว่าจะได้ข้อยุติ และหากอารมณ์ที่มียังไม่ลดลง พวกเขาจะส่งสมาชิกคนนั้นไปหาญาติที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์คุยกันเพื่อแก้ปัญหา และไม่ใช่แค่คู่ขัดแย้งที่ต้องคุยกัน แต่คือ “พวกเราทุกคน” ที่อยู่รอบๆ ปัญหานั้นด้วย
ชนเผ่า “แซน” รวมตัวกันรอบกองไฟในยามเย็น

Photo Cr.: 2630ben/Shutterstock
“หญิงชรา”
การแก้ปัญหาในธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ คนในครอบครัวโดยไม่มองว่า “ธุระไม่ใช่” วิลเลี่ยม ยูริ เชื่อในบทบาทของ “บุคคลที่ 3” ว่าเป็นเคล็ดลับของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่ชนเผ่าแซนที่เชื้อเชิญสมาชิกคนอื่นๆ มาร่วมวงประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาด้วย ซึ่งบุคคลที่ 3 หรือที่โปรเฟสเซอร์ยูริเรียกว่า Third Side นั้น ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือคนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด คือบุคคลที่อยู่รอบๆ ความขัดแย้ง (แต่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง) นั่นเอง บุคคลที่ 3 เหล่านี้มีบทบาทสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ชวนคู่ขัดแย้งกลับมาพูดคุยกันซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการแก้ปัญหา (2) ให้มุมมองใหม่ๆ ต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ และ (3) ช่วยเตือนสติว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำหรือคิดจะทำนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อตัวเขาเองและคนอื่นๆ อะไรคือสิ่งที่พวกเขาจะได้และเสียจากความขัดแย้งนี้ เพราะด้วยอารมณ์และจุดยืนที่มีทำให้พวกเขาที่อยู่ในความขัดแย้งหลงประเด็น มองไม่เห็นภาพใหญ่ และอาจจะทำสิ่งที่พวกเขาจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต
“บุคคลที่ 3” (Third Side) คือเคล็ดลับของการจัดการความขัดแย้ง

ที่มา : William Ury
“อูฐตัวที่ 18”
เราไม่อาจแบ่งอูฐ 17 ตัวให้กับลูก 3 คนได้คือความเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดติดกับความเป็นจริงนี้แต่เพียงแง่มุมเดียวโดยไม่สนใจความเป็นไปได้อื่นๆ เราก็กำลังสร้างกรอบความคิดที่ไปจำกัดทางออกของปัญหา
ทุกครอบครัวต้องการ “อูฐตัวที่ 18” เราต้องการความคิดสร้างสรรค์ หรือเครื่องมือที่สร้างสรรค์เพื่อที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปให้ได้ อูฐตัวที่ 18 ของแต่ละครอบครัวนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป บางคนใช้ “ธรรมนูญครอบครัว” เป็นเครื่องมือชักชวนให้สมาชิกครอบครัวหันหน้ามาพูดคุยกันซึ่งก็น่าจะปลอดภัยกว่าการชวนให้คุณพ่อคุณแม่มาเขียนพินัยกรรม หรือมาแบ่งหุ้นกันเป็นไหนๆ การจัดทริปไปเที่ยวด้วยกัน การจัดงานวันเกิดคุณย่า วันแซยิดคุณปู่ หรือแม้กระทั้งนัดดูบอล นัดเรียนโยคะ ก็อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะทำให้สมาชิกมีโอกาสได้พูดคุยกันในเรื่องสำคัญๆ อย่างไม่เป็นทางการ ในเซ็ตติ้งที่สบายๆ
ครอบครัวของเราคือพี่น้อง 3 คนนั้นที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอูฐ 17 ตัว
ผมไม่รู้ว่าหน้าตาของอูฐตัวที่ 18 ของคุณกับของผมนั้นเหมือนกันไหม แต่ที่แน่ๆ โลกนี้ต้องการหญิงชราผู้ชาญฉลาด และอูฐตัวที่ 18 อีกหลายๆ ตัว!
* * *
Note:
[1] “Peace is not the absence of conflict, but the ability to cope with it,”Mahatma Gandhi [2] ชนเผ่าแซน (San) เป็นชนเผ่าที่อยู่อาศัยทางตอนใต้ของทวีปอัฟริกามานานกว่า 20,000 ปี พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ อาศัยอยู่ในถ้ำ และเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ชาวแซนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มไม่เกิน 25 คน แต่ก็มีการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มเป็นครั้งคราวเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร ของขวัญ แต่งงาน และร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ [3] ความเป็นผู้นำ (Leadership) จะขึ้นอยู่กับอายุ ระยะเวลาที่อยู่กับกลุ่ม และบุคลิกภาพที่น่านับถือ แต่แม้จะมีผู้นำ ขาวแซนก็ยังใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจร่วมกันอยู่ดี
Reference:
· William Ury, The walk from “no” to “yes”, TED Talk
· Siyabona Africa, “SAN”, krugerpark.co.za เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564
Comentarios